ข่าวประชาสัมพันธ์

สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ

ผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 2 และ 3 สรุปได้ ดังนี้

1. มาตรา 1 ชื่อร่าง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ”

2. มาตรา 2 วันใช้บังคับ ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

3. มาตรา 3 เห็นชอบให้คงเดิมตามร่างของนายวรศษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ที่สภาเห็นชอบในวาะที่ 1 ดังนี้ ในกรณีที่ราชการ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐตามที่มีกฎหมายกำหนดได้จ้างบุคคลธรรมดาทำงานในลักษณะจ้างเหมาบริการโดยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นรายวัน รายเดือน หรือระยะเวลาอืน และหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแลการทำงานของบุคคลที่มาทำงาน ให้หน่วยงานที่จ้างดำเนินการให้บุคคลดังกล่าวได้รับค่าตอบแทนการทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี วันลาป่วย ว้นลาคลอด วันและเวลาทำงาน เวลาพัก ไม่น้อยกว่าตามสิทธิที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
บรรดาคดีพิพาทระหว่างระหว่างหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้ว่าจ้างกับบุคคลผู้รับจ้างให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน

4. มาตรา 4 แก้ไขมาตรา 41 วรรคหนึ่ง โดยให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 120 วัน (เดิม 98 วัน) หรือตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

5. มาตรา 4/1 เพิ่มวรรคสี่ ของมาตรา 41 โดยให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน กรณีบุตรมีภาวะการเจ็บป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน มีความผิดปกติ หรือมีภาวะความพิการ ทั้งนี้ ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันประกอบการลาด้วย

6. มาตรา 5 เพิ่มมาตรา 41/1 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสซึ่งคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 15 วัน โดยใช้สิทธิก่อนหรือในวันที่ลาภายใน 90 วันนับแต่วันที่คลอดบุตร

7. มาตรา 6 แก้ไขมาตรา 59 โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 60 วัน (เดิม 45 วัน) หรือตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

8. มาตรา 6/1 เพิ่มมาตรา 59/1 โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรในอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้างสำหรับวันที่ลา และเพิ่มมาตรา 59/2 โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรส เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 15 วัน

9. มาตรา 7 แก้ไขมาตรา 115/1 โดยยกเลิกการส่งเอกสารแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานให้นายจ้างภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ทั้งนี้ วิธีการยื่นแบบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

10. ตัด มาตรา 8 ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 180 วันนับแต่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอาจขอขยายกรอบเวลาต่อคณะรัฐมนตรีได้อีกครั้งไม่เกิน 180 วันและจะต้องมีมติคณะรัฐมนตรีขยายกรอบเวลาก่อนที่จะครบกำหนดเวลาดังกล่าว
กรณีการดำเนินการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 4 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่แล้วเสร็จในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของบุคลากรและลูกจ้างทุกประเภทในหน่วยงานราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และหน่วยงานของรัฐอื่นเป็นไปตามกฎหมายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และ
ม.9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

11.แก้ไขข้อสังเกตให้สอดคล้องกับมติที่ให้ตัดร่างมาตรา 3